บทความที่ได้รับความนิยม

วันศุกร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2554

วันเกิด "เหรียญ 2 บาท"


วันเกิด "เหรียญ 2 บาท"
โดย ดร. คณิศ แสงสุพรรณ ดร.นิตินัย ศิริสมรรถการ  ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2548 ปีที่ 29 ฉบับที่ 3727 (2927)
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราช ทานบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์บนเหรียญ 2 บาท เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2548 และกระทรวงการคลังโดยกรมธนารักษ์จะได้นำออกสู่สาธารณชนเป็นครั้งแรกในวันที่ 26 กันยายน 2548 ซึ่งถือเป็นวันเกิดของเหรียญ 2 บาท ที่จะอยู่กันต่อไปอีกนาน
ทำไมต้องมีเหรียญ 2 บาท
มีน้อยคนที่จะทราบว่าขณะนี้มีเหรียญ 1 บาทหมุนเวียนอยู่ในระบบเป็นจำนวนร้อยละ 58 ของเหรียญทั้งหมด คือมีเหรียญบาทจำนวน 7 ล้านเหรียญ และมากกว่าเหรียญที่เหลือ (สลึง-สองสลึง-ห้าบาท-สิบบาท) รวมกัน หากปล่อยต่อไปก็จะต้องผลิตเหรียญบาทเป็นจำนวนมาก และเมื่อไม่เพียงพอก็จะมีปัญหาเหรียญขาดตลาดได้
สาเหตุมีการใช้เหรียญบาทมากก็เพราะว่า
1.ส่วนต่างของมูลค่าระหว่างเหรียญ 1 บาท และ 5 บาทนั้น ห่างกันมากเกินไป คือห่างกัน 5 เท่า ในขณะที่ส่วนต่างของเหรียญอื่นๆ มีเพียง 2 เท่า เช่น จากสลึง เป็น 2 สลึง จาก 2 สลึง เป็น 1 บาท และจาก 5 บาท เป็น 10 บาท ส่วนต่าง 5 เท่าระหว่าง 1 บาท และ 5 บาทนั้น ทำให้เหรียญ 1 บาทมีความต้องการมาก และต้องทำงานมากเกินไป คือเหรียญบาทต้องทำหน้าที่ในการรับ-จ่ายในช่วง 1 ถึง 4 บาท
2.เมื่อเศรษฐกิจขยายตัวปริมาณการใช้เหรียญมากขึ้น โดยความต้องการเหรียญบาทเพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่มากกว่าเหรียญอื่นๆ (ดูตารางที่ 1)
ดังนั้น เหรียญ 2 บาทจึงมีความจำเป็นในฐานะที่เป็นเหรียญคั่นกลางระหว่างเหรียญ 1 บาท และ 5 บาท ทอนให้ส่วนต่างเดิม 5 เท่านั้นลดลง เมื่อมีเหรียญ 2 บาทแล้ว เหรียญ 1 บาทจะใช้ซื้อหรือรับทอนในมูลค่า 1 ถึง 2 บาท และเหรียญ 2 บาท จะช่วยทำหน้าที่ในช่วง 2-4 บาท ทั้งนี้ประมาณว่าความต้องการเหรียญบาทจะลดลงประมาณร้อยละ 30
ที่จริงเรื่องการรักษาช่วงห่างระหว่างเหรียญ 2 เท่าตลอดอนุกรมของเหรียญนั้นเป็นเรื่องที่ทำกันโดยทั่วไป จึงอาจกล่าวได้ว่าเหรียญ 2 บาททำให้มีเหรียญกษาปณ์ของประเทศไทยครบอนุกรม ซึ่งท่านที่เดินทางบ่อยๆ จะพบว่าเหรียญของประเทศอื่นๆ นั้นมักจะมีครบอนุกรม
หากจะมีข้อยกเว้นก็เห็นจะเป็นระบบเหรียญของญี่ปุ่นที่พ่อบ้านแม่บ้านต้องมีกระเป๋าสำหรับเหรียญเพราะภาษีสินค้าและบริการไม่รวมอยู่
ในราคาป้ายทำให้ต้องมีราคาเป็นเศษสตางค์
สาเหตุอีกประการหนึ่งที่ทำให้ต้องผลิตเหรียญบาทมากขึ้นตลอดเวลาคือ พฤติกรรม ของเราที่-รับทอนเหรียญบาท แต่ไม่ชอบพก ชอบเก็บไว้ที่บ้านคือเมื่อได้รับเงินทอนเป็นเหรียญบาทก็จะเก็บใส่ตะกร้าเหรียญไว้ที่บ้าน แต่คัดเอาเฉพาะเหรียญ 5 บาท และ 10 บาทมาใช้ โดยพฤติกรรมของคนไทยไม่ค่อยพกเหรียญราคาถูก (สลึง-สองสลึง-หนึ่งบาท) เพราะหนักและไม่ชอบพกกระเป๋าเศษสตางค์นี้
เชื่อหรือไม่ว่าจากการสำรวจคนในกรุงเทพฯและ ปริมณฑล พบว่าผู้ชายมีเหรียญเก็บไว้ที่บ้านไม่ได้ใช้ร้อยละ 12.4 เฉลี่ยคนละประมาณ 342.43 บาท ส่วนผู้หญิงพอจะพกเหรียญบ้างแต่ก็ยังมีประมาณร้อยละ 7.7 ที่ยังมีเหรียญเก็บไว้ที่บ้าน เฉลี่ย 137.54 บาท/คน หวังว่าเหรียญ 2 บาทจะถูกคัดขึ้นมาใช้เช่นเดียวกับเหรียญ 5 บาท และเหรียญ 10 บาท
กว่าจะมาเป็นเหรียญ 2 บาท
มีผู้ที่หวังดีเตือนกระทรวงการคลังเสมอว่า ให้ระวังอย่าให้มูลค่าโลหะที่ใช้ทำเหรียญ (นิเกิลผสมทองแดง) สูงกว่าราคาหน้าเหรียญ โดยเฉพาะเมื่อราคาสินแร่เหล่านั้นสูงขึ้นเรื่อยๆ ตามราคาน้ำมัน ในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญการผลิตเหรียญทั่วโลกจึงได้พยายามหาวิธีลดมูลค่าโลหะในเหรียญ แต่ให้มีรูปลักษณ์ของเหรียญเหมือนเดิม วิธีที่ได้รับความนิยมคือ ทำเหรียญที่มีไส้เป็นเหล็ก และหุ้มหนาด้วย นิเกิล โดยดูจากภายนอกจะมีรูปลักษณ์ มีความคงทน และระยะเวลาการใช้งานเท่าเดิม (ทั้งนี้เหรียญเดิมที่ไม่มีไส้ เมื่อใช้งานไประยะหนึ่งเมื่อตัวปั๊มนูนเริ่มไม่ชัดก็ต้องเปลี่ยนใหม่อยู่ดี)
เหรียญ 2 บาทที่ออกใหม่จึงเป็นเหรียญเคลือบหนา และก่อนจะตัดสินใจใช้ ได้นำเหรียญชนิดนี้ให้ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ (NECTEC) ไปทดสอบความคงทน ซึ่งผลออกมาว่าเหรียญที่ใช้เทคโนโลยีชุบเคลือบ 1 ชั้นเช่นเหรียญ 2 บาทนี้จะใช้ได้นานกว่า 20 ปี
รูปแบบของเหรียญ 2 บาทจะใหญ่และหนากว่าเหรียญบาท และสังเกตได้ง่าย ผู้ออกแบบด้านหน้าคือกลุ่มวิจัย สำนักกษาปณ์ ภายใต้การดูแลของผู้อำนวยการสำนักกษาปณ์ คุณจารุวรรณ และผู้ออกแบบด้านหลังคือ นายไชยยศ สุนทราภา นักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมปรมาณู Nuclear Science and Engineering Department คณะวิศวกรรมศาสตร์ School of Engineering สถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเสตส์ Massachusetts Institute of Technology นอกจากนั้นยังได้ทำเครื่องหมายไว้ที่ขอบเหรียญ ซึ่งเรียกได้ว่าผู้พิการทางสายตาสามารถสัมผัสแยกแยะได้ จึงเชื่อได้ว่าทุกคนสามารถแยกแยะได้ง่ายไม่มีปัญหาในการใช้
เหรียญ 2 บาทจะไม่ทำให้เกิดการขึ้นของราคาสินค้า
ข้อกังวลว่า เมื่อมีเหรียญ 2 บาทแล้วราคาสินค้าจะขึ้นไปอีกนั้นจะไม่เกิดขึ้น เพราะไม่ได้ยกเลิกเหรียญ 1 บาทแต่อย่างใด หน่วยการนับราคาไม่ได้หายไปไหน ไม่ว่าจะเป็นหนึ่งสลึง หนึ่งบาท ยังอยู่เหมือนเดิม ดังนั้นหน่วยนับที่เป็นบาทก็ยังเหมือนเดิม จากการศึกษาพบว่าเมื่อครั้งนำธนบัตรฉบับละ 50 บาทออกมาคั่นกลางการใช้ธนบัตรฉบับละ 20 บาท และธนบัตรฉบับละ 100 บาท พบว่าการออกธนบัตรฉบับละ 50 บาทมิได้ส่งผลต่อภาวะเงินเฟ้อแต่อย่างใด โดยระดับเงินเฟ้อเฉลี่ย 2 ปีหลังจากการนำธนบัตรฉบับละ 50 บาทออกมาใช้อยู่ที่ระดับร้อยละ 2.2 ต่ำกว่าระดับเงินเฟ้อเฉลี่ย 3 ปีก่อนนำธนบัตรฉบับละ 50 บาทออกมาใช้ที่ระดับร้อยละ 3.3

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น