บทความที่ได้รับความนิยม

วันศุกร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2554

จะเริ่มต้นสะสมเหรียญอย่างไรดี


ในที่นี้จะพูดถึงเฉพาะการสะสมเหรียญกษาปณ์ในยุคปัจจุบันเท่านั้น เพราะการสะสมเหรียญในยุคก่อนจะต้องศึกษาหาความรู้อีกมาก รวมทั้งราคาสูงและมีของปลอมอยู่มากด้วย
เหรียญในปัจจุบันพอจะแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ
1. เหรียญกษาปณ์ คือ เหรียญที่มีราคาหน้าอยู่บนเหรียญ ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ
1.1 เหรียญกษาปณ์หมุนเวียน คือ เหรียญที่ใช้ในชีวิตประจำวัน มีราคา 1/5/10/25/50 สตางค์ 1/2/5/10 บาท
1.2 เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก คือ เหรียญที่ผลิตขึ้นในโอกาสพิเศษต่าง ๆ มีหลายราคาตั้งแต่ 1 สตางค์ ถึง 16,000 บาท และมีทั้งชนิดไม่ขัดเงา และ ขัดเงา(รวม หนาพิเศษ/โฮโลแกรม/ลงสี)
2. เหรียญที่ระลึก คือ เหรียญที่ผลิตขึ้นในโอกาสพิเศษต่าง ๆ ไม่มีราคาบนเหรียญ ใช้ชำระหนี้ไม่ได้
เราควรกำหนดเป้าหมายไว้ก่อนว่าจะสะสมเหรียญอะไรบ้าง แล้วจึงหาซื้อหาแลกให้ครบ เหรียญที่เหมาะกับการเริ่มต้นสะสมคือเหรียญ 10 บาท โลหะสองสี และเหรียญ 20 บาท นิเกิล เพราะเป็นเหรียญรุ่นใหม่ยังออกมาไม่นานและจำนวนผลิตค่อนข้างมาก หาได้ไม่ยากนัก ราคาก็ไม่สูงด้วย เมื่อเก็บสะสมได้ครบแล้วก็ลองหาเหรียญ 1 บาท 2 บาท และ 5 บาท ซึ่งเป็นชุดที่ไม่มีการออกเหรียญใหม่มากว่าสิบปีแล้ว แต่ละชุดราคาก็ไม่สูงนัก จากนั้นค่อยเล็งไปที่เหรียญ 10 บาท นิเกิล ซึ่งมีหลายเหรียญที่หายากและราคาสูง คงต้องค่อย ๆ เก็บสะสมตามกำลัง แต่ถ้ามีทุนทรัพย์มากพอซื้อเป็นชุดได้ก็จะถูกกว่าตามเก็บทีละเหรียญ ที่สำคัญต้องแลกเหรียญออกใหม่เก็บไว้ก่อน จะได้ไม่ต้องตาหาทีหลังอีก
การสะสมเหรียญเงินและเหรียญทองคำ ต้องใช้เงินสูงมาก ถ้าจะสะสมควรเริ่มจากเหรียญออกใหม่ที่แลกได้ในราคาจ่ายแลกก่อน แล้วจึงค่อยตามหาเหรียญอื่น ๆ ตามกำลังต่อไป
ส่วนเหรียญขัดเงา นอกจากผลิตน้อย หายาก ราคาสูงแล้ว ยังเก็บรักษายากกว่าเหรียญไม่ขัดเงาอีกด้วย แต่เหรียญขัดเงาก็มีความสวยงามกว่า
สำหรับเหรียญหมุนเวียน ส่วนใหญ่ก็ยังมีราคาไม่สูงนัก เนื่องจากจำนวนผลิตมาก ก็ค่อย ๆ เก็บจากเหรียญที่ผลิตใหม่ก่อน แล้วค่อยตามหาเหรียญเก่า ๆ ต่อไป อย่าลืมว่าเหรียญใหม่ ๆ มีออกมาอยู่เรื่อย ๆ และ เราอาจจะเจอเหรียญที่ตามหาได้ทุกเมื่อ ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือ ออมเงินเผื่อไว้เป็นการล่วงหน้าเสมอ

หาซื้อเหรียญได้ที่ไหน
ดีที่สุดคือ หน่วยจ่ายแลกของกรมธนารักษ์ ได้ของแท้สภาพดีในราคาต้นทุน ส่วนที่อื่น ๆ ได้แก่
การซื้อสินค้าทางออนไลน์ต้องมีค่าจัดส่ง และ มีความเสี่ยงที่จะถูกโกงได้ ขอให้ใช้ความระมัดระวังด้วย สำหรับผู้ขายทางออนไลน์ที่แนะนำไว้นี้มีความน่าเชื่อถือดีมาก
การเลือกแหล่งซี้อเหรียญควรคำนึงถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าจัดส่ง ค่าโทรติดต่อ ค่าโอนเงิน ค่าเดินทาง เป็นต้น นอกจากนั้นการประเมินสภาพเหรียญให้ยึดหลักว่า "สิบปากว่า ไม่เท่าตาเห็น"
ตัวอย่าง: แผงขายเหรียญที่เราเดินผ่านมีเหรียญ 10 บาทที่ยังขาดอยู่ ขายในราคาเหรียญละ 15 บาท ถ้าเราซื้อ 2 เหรียญ เป็นเงิน 30 บาท แต่ในเว็บมีสมาชิกใจดีขายเหรียญเดียวกันนี้ในราคาเหรียญละ 10 บาท ให้โทรติดต่อที่ 08x-xxx-xxxx ค่าจัดส่ง 20 บาท อย่างน้อยต้องใช้เงิน (10 * 2) + 20 = 40 บาท ไม่รวมค่าโทร
ราคาตลาดของเหรียญ
พอจะแบ่ง "ราคา" ออกได้เป็น
  • ราคาหน้าเหรียญ คือราคาที่ปรากฎอยู่บนเหรียญ เป็นมูลค่าที่กฎหมายรับรองให้ใช้ชำระหนี้ได้
  • ราคาจ่ายแลก คือราคาที่ทางราชการนำออกให้ประชาชนแลก โดยปกติจะจ่ายแลกในราคาหน้าเหรียญ ยกเว้นเหรียญขัดเงา จะจ่ายแลกในราคาสูงกว่าราคาหน้าเหรียญ แต่ก็ใช้ชำระหนี้ได้เพียงราคาหน้าเหรียญเท่านั้น
  • ราคาตลาด คือราคาที่ซื้อขายกันในท้องตลาด มักจะมีราคาสูงกว่าราคาจ่ายแลก
ราคาที่แสดงไว้ เป็นราคาตลาดโดยประมาณเท่านั้น ราคาอาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา
ลองนำราคาต่อชุด หารด้วย จำนวนเหรียญในชุด จะได้ราคาขายปลีกต่อเหรียญโดยประมาณ
ราคาขายปลีกของแต่ละเหรียญมักขึ้นกับจำนวนผลิต
เหรียญที่ผลิตปี 2525 ถึง 2530 มักมีจำนวนผลิตน้อย ราคาจึงสูงกว่าปีอื่น ๆ
  • เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก ราคา 1 บาท 16 แบบ ราคาประมาณ 300 บาท
  • เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก ราคา 2 บาท 41 แบบ ราคาประมาณ 300 บาท
  • เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก ราคา 5 บาท 16 แบบ(ไม่รวม สยามินทร์) ราคาประมาณ 800 บาท
  • เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก ราคา 10 บาท นิเกิล 46 แบบ ราคาประมาณ 3,200 บาท
  • เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก ราคา 10 บาท นิเกิล ขัดเงา 33 แบบ ราคาประมาณ 22,000 บาท
  • เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก ราคา 10 บาท สองสี 51 แบบ(รวมซีเกมส์ครั้งที่ 24) ราคาประมาณ 850 บาท
  • เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก ราคา 20 บาท นิเกิล 44 แบบ(รวม 80 พรรษา ในหลวง) ราคาประมาณ 1,300 บาท
  • เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก ราคา 20 บาท นิเกิล ขัดเงา 39 แบบ(รวม 80 พรรษา ในหลวง) ราคาประมาณ 12,000 บาท
  • เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก ราคา 50 บาท นิเกิล 5 แบบ(รวม 100 ปี นายเรือ) ราคาประมาณ 350 บาท
  • เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก ราคา 50 บาท นิเกิล ขัดเงา 1 แบบ ราคาประมาณ 800 บาท
  • เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก ราคา 100 บาท นิเกิล 2 แบบ ราคาประมาณ 300 บาท
  • เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก ราคา 100 บาท นิเกิล ขัดเงา 2 แบบ ราคาประมาณ 1,200 บาท
  • เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก ราคา 5 บาท 50 พรรษา ในหลวง "สยามินทร์" ราคาประมาณ 600 บาท
  • เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก ราคา 5 บาท 75 ปี ลูกเสือโลก ราคาประมาณ 400 บาท
  • เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก ราคา 10 บาท 75 ปี ลูกเสือโลก ราคาประมาณ 600 บาท
  • เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก ราคา 10 บาท ปีต้นไม้ ราคาประมาณ 900 บาท
  • เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก ราคา 20 บาท 100 ปี หอสมุดฯ ราคาประมาณ 120 บาท
ลองหาราคาเหรียญที่สนใจจากร้านค้าออนไลน์ในหัวข้อ "หาซื้อเหรียญได้ที่ไหน" แต่ละร้านมีราคาแตกต่างกันบ้าง และราคามีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

การเก็บรักษาเหรียญ
คุณค่าของเหรียญโดยทั่วไปแล้ว จะถูกกำหนดโดยสภาพความสมบูรณ์ เหรียญเก่าที่มีสภาพเหมือนกับที่เพิ่งผลิตออกมาจากโรงกษาปณ์ใหม่ๆ ย่อมมีคุณค่าสูงกว่า เหรียญชนิดเดียวกัน ที่ถูกใช้มานาน จนเกิดรอยขูดขีด ชำรุด หรือ มีตำหนิ เงินโบราณหลายชนิด เช่น เงินพดด้วง เงินเจียง เงินกรีก โรคุณ ซึ่งมีอายุนับร้อย จนถึงหลายพันปี ซึ่งถูกขุดขึ้นมา ด้วยผ่านกาลเวลาอันยาวนาน แล้วตกทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน ย่อมผ่านการใช้จ่ายมามากบ้าง น้อยบ้าง หรือ ไม่ได้ถูกใช้เลยก็มี สภาพของเหรียญเหล่านี้จึงต่างกัน คุณค่าก็ต่างกันไปตามสภาพเช่นเดียวกัน ในปัจจุบันนี้ มีผู้นิยมสะสมเหรียญเพิ่มมากขึ้น นับเป็นสิ่งที่น่ายินดี ที่จะได้มาร่วมกันอนุรักษ์ เก็บรักษาเหรียญ อันเปรียบเหมือนหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ให้คงสภาพเดิมในปัจจุบัน ให้ยาวนานที่สุด เหมือนกับเงินโบราณ ที่มีอายุนับร้อยนับพันปี
เหรียญกษาปณ์ และเหรียญที่ระลึก ล้วนทำด้วยโลหะ ซึ่งคงทนต่อสภาพอากาศ และสิ่งแวดล้อมที่แปรเปลี่ยน ได้ดีกว่าแสตมป์ และ ธนบัตร การเก็บรักษาเหรียญเหล่านี้ จึงง่ายคลายกังวลลงได้ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยหลายอย่าง ที่ทำให้เหรียญเสื่อมสภาพลงโดยที่คาดไม่ถึงได้ เพื่อให้คุณค่าของเหรียญไม่ลดลง โดยไม่ได้ตั้งใจ จึงขอเสนอเหตุปัจจัย ที่ทำให้เหรียญเสื่อมสถาพลง พร้อมทั้งวิธีการเก็บรักษา เพื่อให้เหรียญคงสภาพเดิมได้นานที่สุด หรือเพื่อชลอการเสื่อมสภาพ ให้ได้ยาวนานที่สุด ไม่ให้เสียหายเพราะน้ำมือของเราเอง
ปัจจัยที่ทำให้เหรียญเสื่อมสภาพ
ความชื้น ประเทศไทยของเราตั้งอยู่ในเขตร้อนชื้น ความชื้นในอากาศ เมื่อมีปัจจัยอื่นร่วมด้วย เช่น ความร้อน ความเย็น อาจทำให้ไอน้ำในอากาศ ควบแน่นเป็นหยดน้ำ ติดอยู่บนผิวเหรียญ ถ้ามีก๊าซพิษ เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซไข่เน่า อยู่ด้วย น้ำจะมีฤทธิ์เป็นกรดอ่อนทันที ทำให้กัดกร่อนผิวของเหรียญได้
น้ำ เหรียญที่แช่ในน้ำนานๆ ย่อมสึกกร่อนได้เร็วกว่า การเก็บไว้ในที่ชื้น เพราะน้ำในธรรมชาติ จะมีฤทธิ์เป็นกรด (Acid) หรือ ด่าง (Base) อย่างอ่อน ยากที่จะมีฤทธิ์เป็นกลาง (Neutral) ทั้งกรดและด่าง ล้วนสามารถที่จะกัดกร่อนโลหะได้ทั้งสิ้น
ความร้อน มีผลต่อเหรียญที่ผิวสกปรก มีคราบเหงื่อไคล ซึ่งมีน้ำคุณ และ เกลือที่ละลายอยู่ในเหงื่อ หรือ เหรียญที่มีไอน้ำกรดด่างติดอยู่ ความร้อนจะเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้สารเคมีเหล่านี้ กัดกร่อนผิวเนื้อเหรียญให้เสียหายได้
แสงสว่าง เมื่อถูกผิวเหรียญ พลังงานส่วนหนึ่งของแสง จะถูกเปลี่ยนเป็นความร้อน ซึ่งเป็นผลเสียต่อผิวของเหรียญได้ เมื่อมีปัจจัยอื่น เช่น ก๊าซ หรือ ความชื้น เข้ามาเกี่ยวข้อง
อากาศ ในอากาศมีก๊าซหลายชนิด ผสมปนกันอยู่ เหรียญที่ทำด้วยโลหะชนิดต่างๆ มีความไวต่อปฏิกิริยากับก๊าซชนิดต่างๆ ไม่เท่ากัน ถ้าเก็บอย่างไม่ระมัดระวัง ผิวเหรียญอาจสึกกร่อนได้
สารเคมี อันประกอบด้วย กรด ด่าง และ เกลือ ล้วนมีผลทำให้เกิดปฏิกิริยาเคมี กับผิวเหรียญได้ ควรเก็บเหรียญให้ห่างจากสารเคมีต่างๆ
เหงื่อ บนนิ้วมือของเรา มีต่อมเหงื่ออยู่ทั่วไปตามแนวเส้นลายมือ นอกจากนั้น นิ้วมือที่จับเหรียญยังอาจนำคราบสกปรกอื่นๆ เช่น ฝุ่น หรือ เศษอาหารมาติดเหรียญได้
สัตว์ต่างๆ เช่น มด หนู แมลงสาบ อาจมาทำรังในตู้เก็บเหรียญ หรือมาเหยียบย่ำเหรียญให้เป็นรอยได้ ควรหมั่นตรวจตราอยู่เสมอ
ฝุ่นละออง เป็นสิ่งที่มองไม่เห็น มีอยู่ทั่วไปในบรรยากาศ อาจทำให้เกิดคราบติดแน่นบนผิวเหรียญได้
การตกหล่น กระทบกระแทก และการขัดถูเหรียญ เป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง เพราะทำให้ เหรียญสูญเสียคุณค่าไปโดยไม่ได้ตั้งใจ สภาพของเหรียญที่ไม่ได้แตะต้องเลย เรียกว่า "ผิวเดิม" เป็นที่ปรารถนาของผู้สะสม เหรียญผิวเดิมบางชนิด มีราคาสูงกว่าเหรียญชำรุดหลายสิบเท่า
ไฟ นอกจากทำลายตัวเหรียญให้หลอมละลายแล้ว ยังทำลายทรัพย์สินอื่นๆ อีกด้วย
วิธีการเก็บรักษาเหรียญ
เก็บในที่ๆ อากาศแห้งที่สุด โดยใช้ถุง หรือ ภาชนะอื่นที่ปิสนิท อากาศเข้าไม่ได้ แล้วใช้สารดูดความชื้น ที่ไม่มีไอพิษ เช่น ซิลิกาเจล ควบคุมความชื้นสัมพัทธ์ให้ต่ำกว่า 45% ไม่ควรเก็บไว้ในห้องอับชื้น อันอาจเกิดเห็ด รา หรือเป็นที่ทำรังของมดปลวกได้
เก็บในที่ๆควบคุมอุณหภูมิได้ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ควรเก็บไว้ในห้องที่ปรับอากาศบางเวลา เพราะว่าเมื่อปิดเครื่องปรับอากาศแล้ว จะทำให้หยดน้ำมาเกาะที่ผิวเหรียญได้
หมั่นตรวจตราดูแลความสะอาดบริเวณที่เก็บ ไม่ให้มีเศษอาหารตกค้าง ไม่ให้รกรุงรัง เป็นที่อาศัยของ มด หนู และ แมลงต่างๆ
หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับบรรยากาศ โดยใส่ตลับ ซองพลาสติก หรือ ซองเหรียญ (Mount) แล้วปิดผนึกไม่ให้อากาศเข้าได้ ไม่ควรผนึกแน่นเกินไปจนกดทับตัวเหรียญ
ไม่วางทับซ้อนกัน ควรวางแยกจากกัน ระวังไม่ให้เหรียญกระทบ ขูดขีดกัน
ไม่ควรเคลือบผิวเหรียญด้วยสารใดๆ เพราะทำให้สารเหล่านี้ ติดกับผิวเหรียญ เมื่อลอกออก จะทำให้ผิวเสียหายได้
การหยิบจับ ควรใช้ถุงมือป้องกันเหงื่อติดตัวเหรียญ หรือ ถ้าต้องใช้มือจับ ควรจับที่ขอบเหรียญ โดยล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่แล้วเช็ดให้แห้งเสียก่อน
เมื่อหยิบจับ ควรระวังไม่ให้ตก เมื่อเคลื่อนย้ายควรวางบนถาด ที่ปูด้วยผ้านุ่มที่ปราศจากสารเคมี
ห้ามใช้กาว หรือ เทปกาว ติดตัวเหรียญ
ตู้เก็บหรือตู้จัดแสดง ต้องปราศจากสารระเหย เช่น แลคเกอร์ หรือ ยาฆ่าแมลง และ ต้องปิดสนิท
ตู้เก็บเหรียญเงิน ควรอยู่ห่างพื้นดินมากๆ ไม่ควรอยู่ใกล้ห้องน้ำ ท่อระบายน้ำ และ น้ำเน่า ฐานตู้จัดแสดง ควรใช้ผ้าชุบสารละลายตะกั่วอาซีเตท (PbAcO) เพื่อป้องกันก๊าซไข่เน่า จากบรรยากาศที่ทำให้ผิวเงินดำได้
ไม่เก็บเหรียญที่เป็นสนิมปะปนกับเหรียญสภาพดี เพราะสนิมสามารถลามไปติดเหรียญได้ ยิ่งถ้าร้อนชื้น จะทำให้เกิดสนิมเร็วขึ้น
วิธีการทำความสะอาดเหรียญ
การเก็บรักษาเหรียญ เป็นวิธีการป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหาย ขึ้นกับเหรียญ แต่ถ้าเหรียญสกปรกเสียหาย เหมือนกับเกิดโรคขึ้นแล้ว จำเป็นต้องใช้ยารักษา คือ การทำความสะอาด อันเป็นสิ่งที่ไม่ควรให้เกิดขึ้น เพราะเป็นผลเสียมากกว่าผลดี ทำให้คุณค่าของเหรียญลดลง โดยเฉพาะ เหรียญที่ทำปฏิกิริยากับอากาศนานๆ จนมีสี (Toning) แสดงถึงความเก่าแก่ อันเป็นที่นิยมมากในยุโรป และอเมริกา อย่างไรก็ตามเหรียญที่สกปรกมากๆ อาจทำความสะอาดได้ โดยล้างอย่างระวัง ในน้ำสบู่ หรือ แปลงขนอ่อน ปัดเบาๆ ใช้สำลีนุ่มๆ ห้ามแช่ในน้ำกรดส้มมะขาม หรือมะนาวเด็ดขาด ข้อพึงสังวรคือ การทำความสะอาดนั้น แท้จริงแล้วเป็นการทำลายความเป็น "ผิวเดิม" ของเหรียญ อย่างที่ไม่สามารถกลับคืนมาได้อีก เปรียบเสมือนพรหมจารีของสตรีเช่นนั้น นอกจากนั้น เดี๋ยวนี้มีน้ำยาล้างเหรียญเงิน ที่มีสารไซยาไนด์เป็นส่วนประกอบ ทำให้เกิดปฏิกิริยารุนแรง ทั้งอาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ จึงต้องระมัดระวัง ทั้งไม่แช่นานเกินไป จนผิวถูกกัดกร่อน ควรใช้น้ำยานี้ทำความสะอาจเหรียญที่สกปรกเท่านั้น ไม่ควรใช้กับเหรียญดีผิวเดิม

ขอบเหรียญ
ในข้อมูลเหรียญไม่ได้บอกลักษณะและขอบของเหรียญไว้ด้วย จึงขอรวบรวมไว้ดังนี้
  • มีเพียงเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนชนิดราคา 5 บาท ปี 2515 เท่านั้น ที่มีลักษณะ เก้าเหลี่ยม
  • เหรียญที่มีขอบเรียบ ได้แก่
    • เหรียญกษาปณ์หมุนเวียน ราคา 1 / 5 / 10 สตางค์ ทุกรุ่นปี
    • เหรียญกษาปณ์หมุนเวียน ราคา 25 สตางค์ ปี 2520 และ 50 สตางค์ ปี 2523 (รวงข้าว)
    • เหรียญกษาปณ์หมุนเวียนราคา 5 บาท ปี 2515 (เก้าเหลี่ยม)
    • เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก 100 ปี พิพิธภัณฑฯ ปี 2517 ราคา 50 บาท
    • เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก 100 ปี กระทรวงการคลัง ปี 2518 ราคา 100 บาท
    • เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก ฟ้าหญิง จบเกษตรฯ ปี 2522 ราคา 2 บาท
  • เหรียญที่มีขอบเรียบและมีตัวอักษรที่ขอบได้แก่
    • เหรียญกษาปณ์หมุนเวียน ราคา 5 บาท ปี 2520 และ 2522 (ครุฑเฉียง) มีข้อความ "กองกษาปณ์ กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง"
  • เหรียญ 10 บาท โลหะสองสีทั้งหมด เป็นแบบขอบเรียบสลับเฟือง
  • เหรียญกษาปณ์หมุนเวียน ราคา 2 บาท เป็นแบบขอบเรียบสลับเฟือง
  • นอกจากที่กล่าวมาแล้วเป็นเหรียญกลม ขอบมีเฟืองทั้งสิ้น

การพลิกเหรียญ
การพลิกเหรียญมี 2 ลักษณะ คือ การพลิกตามแนวตั้ง และ การพลิกตามแนวนอน
การพลิกเหรียญตามแนวตั้ง คือการพลิกเหรียญจากด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่งโดยการหมุนเหรียญจากด้านบนพลิกลงมายังด้านล่าง เพี่อให้มองเห็นอีกด้านหนึ่งของเหรียญ เหรียญใดที่พลิกเหรียญตามแนวตั้งแล้วยังเห็นอีกด้านหนึ่งของเหรียญไม่กลับหัว(ไม่หัวทิ่ม) จะเรียกเหรียญนั้นว่ามีลักษณะการพลิกเหรียญตามแนวตั้ง
การพลิกเหรียญตามแนวนอน คือการพลิกเหรียญจากด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่งโดยการหมุนเหรียญจากด้านซ้ายพลิกไปยังด้านขวา เพี่อให้มองเห็นอีกด้านหนึ่งของเหรียญ เหรียญใดที่พลิกเหรียญตามแนวนอนแล้วยังเห็นอีกด้านหนึ่งของเหรียญไม่กลับหัว(ไม่หัวทิ่ม) จะเรียกเหรียญนั้นว่ามีลักษณะการพลิกเหรียญตามแนวนอน
ในข้อมูลเหรียญไม่ได้บอกลักษณะการพลิกของเหรียญไว้ด้วย จึงขอรวบรวมไว้ดังนี้
เหรียญกษาปณ์หมุนเวียนทุกชนิด มีลักษณะการพลิกเหรียญตามแนวตั้ง
  • เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกเกือบทั้งหมด มีลักษณะการพลิกเหรียญตามแนวนอน เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกที่มีการพลิกเหรียญตามแนวตั้งได้แก่
    • เหรียญเสด็จนิวัต พ.ศ. 2504 ราคา 1 บาท
    • เหรียญ 3 รอบ ในหลวง พ.ศ. 2506 ราคา 1 บาท และ 20 บาท
    • เหรียญ Asian Games ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2509 ราคา 1 บาท
    • เหรียญ Asian Games ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2513 ราคา 1 บาท
    • เหรียญครองราชย์ 25 ปี พ.ศ. 2514 ราคา 10 บาท (เหรียญทองคำ พลิกตามแนวนอน)
    • เหรียญ 20 ปี พุทธฯ โลก พ.ศ. 2514 ราคา 50 บาท
    • เหรียญอนุรักษ์ธรรมชาติฯ ปี 2517 ราคา 50 บาท และ 100 บาท (เหรียญทองคำ พลิกตามแนวนอน)

เหรียญนอกระบบ
มีเหรียญกษาปณ์บางชนิดที่มีอยู่ในท้องตลาด แต่ไม่ปรากฎข้อมูลในเว็บและหนังสือของกรมธนารักษ์ ได้แก่
  • เหรียญกษาปณ์หมุนเวียน ราคา 1 บาท ปี 2493
  • เหรียญกษาปณ์หมุนเวียน ราคา 50 สคางค์ ปี 2493 พิมพ์ใหญ่
  • เหรียญกษาปณ์หมุนเวียน ทองเหลือง ราคา 10 และ 25 สคางค์ ปี 2500 พิมพ์เล็ก
  • เหรียญกษาปณ์หมุนเวียน ทองแดง ราคา 10 สคางค์ ปี 2500 พิมพ์เล็ก
  • เหรียญกษาปณ์หมุนเวียน ราคา 5 และ 10 สคางค์ ปี 2500 ชนิดดีบุก
  • เหรียญกษาปณ์หมุนเวียน ราคา 25 สคางค์ ปี 2520 (รวงข้าว) เลขศูนย์กลม
  • เหรียญกษาปณ์หมุนเวียน ราคา 25 สคางค์ ปี 2520 (รวงข้าว) ชนิดทองแดง
  • เหรียญกษาปณ์หมุนเวียน ราคา 1 บาท ปี 2520 (เรือสุพรรณหงส์) ภู่สั้น - ยาว
  • เหรียญกษาปณ์หมุนเวียน ราคา 1 บาท ปี 2525 (วัดพระแก้ว) เศียรเล็ก
  • เหรียญกษาปณ์หมุนเวียน ราคา 1 บาท ปี 2529 (วัดพระแก้ว) ช่อฟ้าสั้น - ยาว
  • เหรียญกษาปณ์หมุนเวียน บางราคา บางปี มีการใช้ตัวอักษร/เลขปี หนา - บาง ต่างกันบ้าง
  • เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก 50 พรรษาในหลวง พ.ศ. 2520 ราคา 5 บาท "สยามินทร์"
  • เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก สมโภชกรุงฯ พ.ศ. 2525 ราคา 5 / 600 / 9000 บาท ขัดเงา
  • เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก ซีเกมส์ครั้งที่ 13 พ.ศ. 2528 ราคา 2 บาท ขัดเงา

ศักราชและมาตราเงินไทย
การเทียบศักราช
พ.ศ. = จ.ศ. + 1181
พ.ศ. = ร.ศ. + 2324
พ.ศ. = ค.ศ. + 543
มาตราเงินไทยก่อนมีการผลิตเหรียญกษาปณ์
50 เบี้ย = 1 กล่อม
2 กล่อม = 1 กล่ำ
2 กล่ำ = 1 ไพ
4 ไพ = 1 เฟื้อง
2 เฟื้อง = 1 สลึง
4 สลึง = 1 บาท
4 บาท = 1 ตำลึง
20 ตำลึง = 1 ชั่ง
มาตราเงินไทยก่อนมี พระราชบัญญัติมาตราทองคำ ร.ศ. 127
50 เบี้ย = 1 โสฬส
2 โสฬส = 1 อัฐ
2 อัฐ = 1 เสี้ยว
2 เสี้ยว = 1 ซีก
2 ซีก = 1 เฟื้อง
2 เฟื้อง = 1 สลึง
4 สลึง = 1 บาท
10 สลึง = 1 ทองพัดดึงส์
4 บาท = 1 ทองพิศ
8 บาท = 1 ทองทศ
80 บาท = 1 ชั่ง
มาตราเงินไทยปัจจุบัน
100 สตางค์ = 1 บาท
ที่มา: หนังสือเหรียญกษาปณ์ กรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2325 - 2525 โดย กรมธนารักษ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น