บทความที่ได้รับความนิยม

วันพุธที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ธนบัตร

"เงินคือพระเจ้า"ประโยคเปรียบเปรยนี้เราอาจเคยได้ยินกันบ่อยๆ เมื่อกล่าวถึงอำนาจบันดาลสิ่งต่างๆ แก่ผู้ครอบครอง ท่านผู้อ่านเคยสงสัยบ้างหรือไม่ว่า "พระเจ้า" ที่คนทั่วไปชอบกันนักหนานี้ถูกสร้างขึ้นที่ไหน?
       
       
สิ่งที่เรียกว่า "เงิน" นี้รู้จักกันดีทั้งในแบบเหรียญและที่เรามีในกระเป๋าตังค์กันส่วนมากคือ "ธนบัตร" เรียกกันทั่วไปว่า "แบงก์สิบ" "แบงก์พัน" ฯลฯ ตามมูลค่า (อาจเพราะออกมาธนาคาร 'Bank' )
       
       
ใครจะรู้บ้างว่าธนบัตรที่เราใช้จับจ่ายทุกวันนี้ไม่ได้เกิดจากกระบอกไม้ไผ่ หากต้องผ่านโรงพิมพ์เช่นเดียวกันกับสิ่งพิมพ์อื่นเบื้องหลังภาพและลายเส้นมากมาย กว่าจะนำออกมาใช้ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจทั้งระบบได้
       
   
    ต้นทางของธนบัตร
       
       "
ตามกฎหมายเรามีทุนสำรองเงินตราหนุน 100% ประกอบด้วยทองคำซึ่งสมัยก่อนอาจทั้งหมด แต่หลังๆ เรามีเงินสกุลต่างชาติ พันธบัตร และเงินตราสกุลอื่น ในปีหนึ่งจะมีการสั่งจากธนาคารแห่งประเทศไทยในด้านจำนวนผลิต เรียกฝ่ายที่ดูแลว่า 'ฝ่ายจัดการธนบัตร' ซึ่งทำงานประสานกับ 'โรงพิมพ์ธนบัตร'ทั้งสองฝ่ายรวมกันเรียกว่า 'ฝ่ายออกบัตรธนาคาร'สรุปว่าโรงพิมพ์ธนบัตรมีหน้าที่ผลิตธนบัตรให้ฝ่ายจัดการธนบัตรออกใช้"
       
       
ดร.นพพร ประโมจนีย์ กรรมการผู้จัดการโรงพิมพ์ฯ เริ่มต้นอธิบายระบบการผลิตของโรงพิมพ์ธนบัตรฯ ซึ่งยังต้องผ่านกระบวนการอื่นๆ อีกมาก ในบ้านเรากิจการนี้อยู่ในความดูแลของฝ่ายออกบัตรธนาคาร สังกัดธนาคารแห่งประเทศไทยทั้งหมด โดยรับนโยบายจากผู้บริหารแบงก์ชาติมี "เงินในไห" หรือ "เงินสำรอง" ของประเทศเป็นตัวสร้างมูลค่าให้ธนบัตรจนสามารถได้รับความเชื่อถือแล้วแลกเปลี่ยนในตลาดโลกได้
       
       
หากใครเคยผ่านบางขุนพรหมแล้วเข้าไปใต้สะพานพระราม 8 ที่เกือบสุดทาง มองเข้าไปทางซ้ายมือ นั่นล่ะคือต้นกำเนิดธนบัตรทั้งหมดในประเทศนี้ที่หมุนเวียนแลกเปลี่ยนอยู่ในมือนายธนาคาร เศรษฐี นักการเมือง นักธุรกิจ พ่อค้า คนชั้นกลาง นักเรียน ไปจนถึงขอทานหรือกระทั่งมิจฉาชีพ (ซึ่งต้องใช้ธนบัตรซื้อข้าวกินเหมือนกัน)
       
       
ที่นี่คือ "โรงพิมพ์ธนบัตร ธนาคารแห่งประเทศไทย" มีหน้าที่พิมพ์ธนบัตรในสกุลเงิน "บาท" ทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว แน่ล่ะ ธนบัตรเป็นสิ่งพิมพ์เหมือนเช่นสิ่งพิมพ์ชนิดอื่น แต่ ดร.นพพร ก็บอกว่านี่คือสิ่งพิมพ์ Security Printing คือมีคุณภาพสูงและปลอมแปลงยาก ตรงกับตรรกะที่ว่า หากเราใช้คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลสแกนธนบัตรที่รัฐบาลผลิตแล้วพิมพ์ออกมาโดยผ่านเครื่องพิมพ์อิงก์เจ็ต แล้วมีคุณสมบัติเหมือนธนบัตรที่แบงก์ชาติผลิตเป๊ะจะวุ่นวายขนาดไหน (นอกจากผิดกฎหมายแล้วทำอย่างไรก็ไม่มีทางเหมือนธนบัตรที่แบงก์ชาติผลิตด้วยเทคโนโลยีระดับสูง)
       
       
นั่นคือเหตุผลและที่มาทั้งหมดของระบบการผลิตซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยใช้เทคโนโลยีระดับสูง รวมถึงใช้ระบบรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดกับผู้เกี่ยวข้องทุกคนนับตั้งแต่ก้าวเข้าอาณาเขตโรงพิมพ์ธนบัตร ซึ่งเราเห็นตั้งแต่ระบบประตูอัตโนมัติ เครื่องตรวจจับโลหะ รวมถึงโทรทัศน์วงจรปิดที่ถูกติดตั้ง
       
       "
ระบบรักษาความปลอดภัยของเราจะว่าแยกกับส่วนของแบงก์ชาติไหมก็แยก ตรงโรงพิมพ์ธนบัตรฯ จะเรียกเขตหวงห้ามเป็นโซน 1 2 3 ที่เราคุยกันอยู่นี้คือ 3 และไล่ไปลึกที่สุดคือ 1 เป็นส่วนที่มีธนบัตร ซึ่งมีระบบรักษาความปลอดภัยดูแลใกล้ชิด โดยปกติจะไม่ให้เข้าไป เรามีรายชื่อว่าใครสามารถเดินเข้าออกได้ทุกเขต เช่นตัวผม หรือท่านผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นต้น ถ้าเป็นคนนอกต้องมีเหตุผลและได้รับอนุญาตก่อน เช่น คนที่มาขอชมการผลิต"
       
       
ปัจจุบันโรงพิมพ์ธนบัตรฯ มีภารกิจผลิตธนบัตรจำนวนกว่า 2,000 ล้านฉบับต่อปี หากนับเป็นมูลค่าก็ราวๆ 6-7 แสนล้านบาท "เราผลิตเองมา 36 ปีแล้วครับ เทคโนโลยีเปลี่ยนพอควร ธนบัตรต้องทำให้ปลอมยากแต่ดูง่าย ธนบัตรหลายรุ่นที่ออกไปมีวิวัฒนาการทางเทคนิคทั้งกระดาษและหมึกพิมพ์ ตอนนี้ก็มีพวกโฮโลแกรมติด มีสิ่งที่มองไม่เห็น แต่ใช้เครื่องตรวจได้" ดร.นพพร พูดถึงสถานะปัจจุบันของโรงพิมพ์ธนบัตรฯ ว่า
       
       "
อยู่ในระดับชั้นนำของโลก เราตามเทคโนโลยีใหม่ตลอด ถือเป็นโรงพิมพ์แรกๆ ที่ใช้ของใหม่ เช่นธนบัตรที่ระลึก 60 บาทเมื่อปี 2530 ใช้หมึกพิเศษที่เปลี่ยนสีได้เรียกว่า OVI บนธนบัตรเป็นประเทศแรก ยังมีธนบัตรพลาสติกที่ระลึก 500 บาท ซึ่งใช้เป็นชาติแรกๆ เหมือนกัน แม้ช่วงต้นไม่ได้พิมพ์เอง ก็ถือว่ามีการใช้เทคโนโลยีติดท็อปเท็นครับ"
       
    
  กว่าจะเป็นธนบัตร
       
       
ขั้นตอนการผลิตธนบัตรเริ่มต้นขึ้นอย่างไร? แน่นอนว่าในปัจจุบันธนบัตรจำนวนมากที่เราใช้อยู่ ถูกผลิตด้วยเครื่องจักรอันทันสมัย แต่ในส่วนที่เป็นงานฝีมือนั้นก็ต้องใช้คนอยู่ดี
       
       
ทีมออกแบบธนบัตรปัจจุบันมีทั้งหมด 8 คนซึ่งมีชื่อตำแหน่งเช่น เจ้าหน้าที่ออกแบบ เจ้าหน้าที่แกะโลหะ ผู้วิเคราะห์ ฯลฯ และเชื่อหรือไม่ว่าธนบัตรเป็นงานศิลปะที่คนทั้ง 8 ออกแบบสร้างสรรค์และมีพื้นที่จัดแสดงอยู่ในกระเป๋าเงินของเราทุกคนโดยไม่ได้ลงนามเจ้าของผลงาน
       
       "
จะใช้รูปแบบใดเราต้องดูก่อนว่าธนบัตรนี้เป็นรุ่นอะไร จะมีแบบ ปัจจุบันคือ Series 15 ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรี ธนบัตรใบละ 20 บาทเป็นเรื่องราวรัชกาลที่ 8 ธนบัตรใบละ 50 บาท เป็นเรื่องราวรัชกาลที่ 4 ซึ่งเราจะเลือกมาลง โดยเมื่อได้หลักการแล้วจะมีการระดมความคิดว่าจะเอาภาพไหน เรื่องเด่นของรัชกาลนั้นๆ คืออะไร ซึ่งผู้วิเคราะห์จะไปหาข้อมูล อย่างใบละ 50 นี่รัชกาลที่ 4 ท่านเด่นเรื่องวิทยาศาสตร์ ก็จะไปหาพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์มาออกแบบ" กุนที กรีประเสริฐกุล ผู้จัดการแผนกออกแบบฯ ให้หลักการ
       
       "
อย่างธนบัตรใบละ 20 บาท เราจะหาข้อมูลโดยทำเป็นทีม ต้องหาภาพประธานด้านหน้า ภาพประกอบด้านหลัง รัชกาลที่ 8 พระราชกรณียกิจที่เด่นคือการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎร ครั้งที่สำคัญคือตอนเสด็จเยี่ยมราษฎรที่สำเพ็งเพื่อเสริมสร้างความสมานฉันท์ระหว่างชาวจีนและชาวไทยให้อยู่ร่วมกันด้วยความผาสุก และมีการเชิญพระราชดำรัสเกี่ยวกับการให้คนในชาติทำประโยชน์เพื่อบ้านเมือง ซึ่งเราจะ Quote สิ่งดีๆ ให้คนปัจจุบันที่ใช้ธนบัตรได้ศึกษา กล่าวได้ว่าธนบัตรเป็นทูตทางวัฒนธรรมที่บรรจุเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับประเทศไว้อีกด้วย" พรทิพย์ ไทยถิ่นงาม เจ้าหน้าที่วิเคราะห์อาวุโสให้รายละเอียดเพิ่มเติม
       
       
ซึ่งภาพต่างๆ ที่พวกเขานำมาตีพิมพ์เป็นธนบัตรนั้นก็ต้องสามารถจัดองค์ประกอบได้ลงตัวอีกด้วย ถึงขั้นตอนนี้แล้วก็จะมีการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการออกแบบแบบสี (ต้นแบบ) เสนอคณะกรรมการชุดต่างๆ เมื่อได้รับอนุมัติ เจ้าหน้าที่จึงลงมือทำงาน และที่เราทึ่งกับทีมงานชุดนี้ก็คือความ "ยาก" ในการสร้างงานรวมถึงการ "ปิดทองหลังพระ" ในศิลปะของชาติมาตลอดเวลาหลายสิบปีตลอดอายุงานแต่ละคน
       
       
ประสิทธิ์ ชนิตราภิรักษ์ ผู้ชำนาญการแกะโลหะ "จิตรกร" เบื้องหลังภาพพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ ซึ่งเป็นภาพประธานของธนบัตรด้านหลัง กล่าวถึงงานว่า "ส่วนต้นแบบที่ต้องใช้การแกะคือภาพประธาน เป็นการต่อต้านการปลอมแปลง ตรงนี้เวลานำไปใช้เป็นแม่พิมพ์จะออกมาเป็นระบบการพิมพ์เส้นนูนซึ่งการปลอมจะทำไม่ได้ ลวดลายการแกะไม่สามารถทำด้วยคอมพิวเตอร์และถ่ายด้วยฟิล์มทั่วไป ต้องเกิดจากการแกะโลหะซึ่งมีความลึกความตื้นโดยใช้เหล็กเท่านั้น" ซึ่งเครื่องมือการแกะก็ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ
       
       
อาชีพ "ช่างแกะ" ภาพบนธนบัตรอาจไม่มีใครเคยได้ยิน ประสิทธิ์บอกว่ามีที่เดียวในประเทศคือธนาคารแห่งประเทศไทย "ผมจบจิตรกรรมที่ไทยวิจิตรศิลป์ แล้วมาต่อเพาะช่าง สอบเข้าแบงก์ชาติ เรียนไม่ถึงเทอมเขาเรียกตัวแล้วมาฝึกแกะที่นี่ ข้างนอกไม่มีสอน การแกะภาพต้นแบบยังต้องแกะภาพที่กลับจากของจริง (คือแกะภาพกลับด้าน เพื่อตอนพิมพ์ออกมาเป็นภาพปกติ) สมัยก่อนเอารูปจริงวางแล้วมองในกระจกถึงลงมือได้ ตอนนี้กลับภาพดูด้วยคอมพิวเตอร์แล้วลงมือแกะได้เลย"
       
       "
ธนบัตรแต่ละ Series ต่างกันครับ ลายไทยอาจใช้เพื่อให้เห็นเอกลักษณ์ แล้วแต่การมอง ต่างประเทศเขาก็มีของเขา และใช้วิธีการแกะเหมือนเรา ซึ่งทุก Series ผมคิดว่าไม่มีอันไหนทำง่ายเลย การแกะทีหนึ่งเราต้องใช้เวลาถึง 6 เดือน ซึ่งหมายถึงต้องวางแผนล่วงหน้า 2 ปี ถึงออกธนบัตรแบบหนึ่งได้ โดยการแกะภาพประธานในธนบัตรจะต้องเริ่มหรือทำก่อนส่วนอื่น"
       
       
เมื่อมีความยากในตัวงาน "ช่างแกะ" จึงเป็นบุคลากรสำคัญที่ทางโรงพิมพ์ต้องมีการสร้างทดแทนรุ่นต่อรุ่น ซึ่งปัจจุบันเป็นรุ่นที่ 2 และอยู่ในระหว่างการสร้างรุ่นที่ 3 "บางคนรับเร็วก็เป็นเร็วครับ อย่างผม 15 ปี ไม่ได้ทำงานจริงเลย นั่งวาด นั่งแกะไปเรื่อยๆ โดยทาง ธปท. มีเงินเดือนให้ เป็นกระบวนการที่เขี้ยวมากครับ ใครทำอาชีพนี้ต้องใจรัก และเป็นคนใจเย็นมาก ไม่จบศิลปะไม่ได้เลย ต้องรู้หลักของภาพ แสงเงา ไม่งั้นแกะไม่ได้ นี่เหมือนการ Drawing ด้วยเหล็กดีๆ นี่เอง" ประสิทธิ์กล่าวถึงหัวใจของอาชีพที่เขาคลุกคลีมาตั้งแต่ปี 2522
       
       
ธนบัตรที่ได้รับการออกแบบใหม่หรือเมื่อมีการปรับคณะรัฐมนตรี จะได้รับการลงชื่อจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังทุกคน โดยมีการล็อกหมวดเลขหมายของธนบัตรว่าถึงตรงไหนจะหยุด เพื่อจะเปลี่ยนรุ่นลายเซ็นรัฐมนตรีหรือเปลี่ยนแปลงซีรีส์ "รมว.คลังจะได้เซ็นทุกคน (มีผลทางกฎหมายทำให้ธนบัตรใช้ชำระหนี้ได้) เพิ่งปรับครม. นี่เราเตรียมปากกาเคมีแล้ว เราจะให้ท่านเซ็นเป็นสิบๆ ชื่อ แล้วมาเลือกลายเซ็นที่สวยก่อนส่งพิมพ์" กุนที สรุปกระบวนการ
       
       
เมื่อจบขั้นตอนออกแบบแล้วก็เข้าสู่การผลิตโดยนำแม่พิมพ์ไปผ่านการปรู๊ฟ ตรวจความถูกต้องอีกครั้ง และเทียบสีรวมถึงความเข้มของหมึกพิมพ์ก่อนพิมพ์จริง ซึ่งภาพและลายที่ปรากฏเกิดจากการพิมพ์ 2 แบบ คือ พิมพ์สีพื้นแบบออฟเซ็ตและเส้นนูนแบบอินทาลโย พิมพ์สีพื้นเป็นขั้นตอนแรกโดยใช้เครื่องที่พิมพ์ได้สองด้านพร้อมกัน ทำให้ส่วนที่ออกแบบทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เมื่อเราส่องดูกับแสงสว่างสามารถทับกันได้สนิท
       
       
ก่อนจะตามด้วยพิมพ์เส้นนูนที่ทำให้ยากต่อการปลอม เพราะต้องใช้การพิมพ์พิเศษที่มีแรงกดจนทำให้หมึกนูนจากผิวธนบัตรแล้วนำไปผ่านกระบวนการตรวจคุณภาพ ซึ่งธนบัตรที่ได้จะมีแผ่นที่ดีและอาจชำรุดบางส่วนจากการตัดกระดาษที่เกิดขึ้นซึ่งจะถูกแยกประเภทออกไป
       
       
แผ่นที่มีสภาพดีจะเข้าสู่การพิมพ์เลขหมายลายเซ็นโดยวิธีเลตเตอร์เพรส เพื่อคุมการออกใช้โดยเลขหมายไม่ซ้ำกัน ก่อนนำไปตัดเป็นแผ่นๆ แล้วบรรจุห่อด้วยเครื่อง ส่วนธนบัตรแผ่นที่ชำรุดจะมีการนำไปตัดเป็นรายฉบับและแทนที่ฉบับชำรุดด้วยธนบัตรชุดพิเศษคือหมวด พ ซึ่งตรงกับตัว S ในอักษรโรมัน ก่อนจะบรรจุห่อแล้วเก็บเข้า "ห้องมั่นคง" เพื่อเตรียมส่งมอบฝ่ายจัดการธนบัตรและศูนย์จัดการธนบัตรภูมิภาค
       
       
ปัจจุบันโรงพิมพ์ธนบัตรมีส่วนที่ทำการเดินเครื่องจักรอยู่ 2 อาคาร อาคารเก่าจะทำหน้าที่ผลิตธนบัตรชนิดราคาสูงอย่างราคา 1,000 บาท และ 500 บาท ซึ่งต้องใช้การพิมพ์แบบเส้นนูนทั้งสองด้าน และส่วนอาคารใหม่ซึ่งผลิตธนบัตรที่มีปริมาณการใช้มากอย่างแบงก์ 20 50 และแบงก์ 100 โดยมีอัตราการผลิตสูงกว่าและจะมีการพิมพ์เส้นนูนลงไปเพียงบางด้าน
       
 
      ก้าวต่อไปของการพิมพ์ธนบัตรไทย
       
       "
แบงก์ปลอมเป็นเรื่องปกติแต่หน้าที่เราคือทำให้เกิดขึ้นได้น้อยที่สุดและไม่แพร่หลายจนเกิดความไม่เชื่อมั่น ปกติคนเราแทบไม่มองธนบัตรเลยเวลาใช้เพราะคิดว่าของจริง วันดีคืนดีก็เจอ เรามีหลายวิธีป้องกัน เช่นทำให้สามารถดูง่ายแต่ปลอมยาก ในท้องตลาดตอนนี้เทคโนโลยีการพิมพ์ดีขึ้นมาก อย่างอิงก์เจ็ท สแกนเนอร์ ตอนนี้เด็กๆ ก็ทำได้ แต่สมัยก่อนจะยากกว่าเพราะต้องมีเครื่องพิมพ์มีอะไรมากมาย ตอนนี้ทำได้ แต่ทำได้ก็ไม่เหมือน แต่ก็ใกล้เคียงมากถ้าคนใช้ไม่พิจารณาดูให้ดี จริงๆ บ้านเราไม่ค่อยมีปัญหานี้เท่าไร" ดร.นพพรกล่าวถึงเรื่องธนบัตรปลอม
       
       "
เราไม่ได้อยู่นิ่ง พยายามจัดการ ถ้าแนวโน้มปลอมมากเราก็ประสานงานเพื่อจับกุมผ่านทางตำรวจและพยายามบอกประชาชนว่าวิธีดูทำยังไง จริงยังไง ปลอมยังไง ...ล่าสุดเข้าใจว่าชนิดราคา 100 บาท หรือ 1,000 บาทจะมีการปลอมมากกว่า เพราะปกติเขาจะปลอมธนบัตรที่ปลอมง่ายในแง่เทคนิคและความคุ้มค่า ใบละ 1,000 นี่คุ้ม 20 บาทนี่แป๊บเดียวอาจถูกจับใบละ 500 นี่ตั้งแต่ออกแบบใหม่ของปลอมหายไปเลย เพราะฝังโฮโลแกรม คงไปคิดวิธีอยู่ (หัวเราะ)…"
       
       "
ตอนนี้ผมหนักใจความต้องการธนบัตรที่เพิ่มขึ้น ปี 2004 ที่ผ่านมาพิมพ์ไปถึง 2,004 ล้านฉบับ เป็นสถิติเลยครับ เพราะเพิ่งถึง 2,000 ล้านฉบับเป็นปีแรก อาจแสดงว่าคนมีเงินแล้วเบิกใช้มากขึ้น ซึ่งตอนนี้กำลังสร้างโรงพิมพ์ใหม่อยู่ที่พุทธมณฑลสาย 7 จะเสร็จปลายปี 2549 ทุกวันนี้เราก้าวหน้ามาก บรรลุวัตถุประสงค์หลายจุด 5 ปีมานี้เราเข้าสู่ระบบ ISO ล่าสุดจะได้ มอก. 18000 ซึ่งมีไม่กี่โรงพิมพ์ธนบัตรในโลกที่ทำได้"
       
       "
ตอนนี้มีคนเข้าชมโรงพิมพ์ธนบัตรปีหนึ่งประมาณ 8-9 พันถ้าสนใจสามารถติดต่อมาได้ เราขอให้มาเป็นคณะ เป็นองค์กร ซึ่งเรายินดีรับ แต่มากๆ ก็ไม่ไหวครับสำหรับที่นี่ นานมาแล้วเคยมีนักเรียนต่อแถวมายาวเลย ซึ่งบางทีพวกเขาเด็กเกินไป ตอนหลังเราจะเน้นผู้ใหญ่และนักศึกษาที่เรียนเกี่ยวข้อง เพราะมีเหตุผลเรื่องความปลอดภัยด้วย หรือถ้าหมู่คณะสนใจโปรดติดต่อก่อน" ดร.นพพรทิ้งท้ายซึ่งสำหรับผู้สนใจเข้าชมกิจการพิมพ์ธนบัตรสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ 0-2283-6018
       
       
แม้ว่าใครหลายคนอาจพูดว่า "เงินคือพระเจ้า" แต่สำหรับในบ้านเราก็เป็น "พระเจ้าสมมติ" ที่มนุษย์สร้างขึ้นแถวๆ บางขุนพรหมนี่เอง
       
       ********
       
      
ธนบัตรมีขึ้นเมื่อใด
       
       
ดินแดนแถบบ้านเราใช้เงินตราเป็นสื่อกลางแลกเปลี่ยนตั้งแต่อดีตในลักษณะ "เบี้ย" ทำจากเปลือกหอยก่อนจะวิวัฒนาการต่อเนื่องในอาณาจักรต่างๆ จนยุครัตนโกสินทร์ปรากฏเงินพดด้วงในสมัยรัชกาลที่ 1 จนถึงสมัยรัชกาลที่ 4 หลังมีการติดต่อกับตะวันตกหลังทำสนธิสัญญาบาวริ่ง การค้าขยายตัวมากจนวัสดุผลิตเหรียญและเงินพดด้วงขาดแคลน จึงมีการใช้ "หมาย" ซึ่งถือเป็นธนบัตรรุ่นแรกสมัยรัชกาลที่ 4 ล่วงถึงรัชกาลที่ 5 จึงมีการจ้างโทมัส เดอลารู โรงพิมพ์สัญชาติอังกฤษพิมพ์ "อัฐกระดาษ" ขึ้นใช้
       
       
สยามจ้างต่างประเทศพิมพ์ธนบัตรมาจนสงครามโลกครั้งที่สองก็เกิดปัญหาขึ้นเมื่อการสู้รบรุนแรงการขนส่งธนบัตรก็ยาก รัฐบาลหันมาใช้โรงพิมพ์ในประเทศระหว่างสงคราม สมัยนี้มีเรื่องเล่าสนุกๆ ว่าธนบัตรไม่มีค่าเนื่องจากรัฐบาลไทยซึ่งถูกกองทัพญี่ปุ่นยึดครองประเทศอยู่นั้นโดนบังคับปล่อยกู้เงินไปจนเกิดเงินเฟ้อ รัฐบาลต้องพิมพ์ธนบัตรออกใช้โดยไม่มีทุนสำรองหนุนหลัง เกิดศัพท์เรียกว่า "แบงก์กงเต๊ก" ขึ้นกับธนบัตรไทย
       
       
สถานการณ์ดีขึ้นหลังสงคราม จนรัฐบาลให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ซึ่งอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ริเริ่มตั้งแต่ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2) ตั้งโรงพิมพ์ธนบัตรขึ้นเมื่อ 24 มิถุนายน 2512 ถือเป็นวิวัฒนาการครั้งสำคัญที่ทำให้ไทยสามารถผลิตธนบัตรใช้เองได้จวบจนปัจจุบัน

       

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น